Latest information

หน้าผาการคลัง

Fiscal cliff of U.S.A



















United States fiscal cliff
http://en.wikipedia.org/wiki/United_States_fiscal_cliff

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีคำศัพท์ หรือตัวย่อทางด้านเศรษฐกิจถูกกล่าวขึ้นมาพูดถึงเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น QE (Quantitative Easing - การผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน) LTRO (Long Term Refinance Operations - การปล่อยกู้ระยะยาวแก่ธนาคาร ในสหภาพยุโรปเพื่อเสริมสภาพคล่อง) Troika (กลุ่มผู้ดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้ของกรีซ ประกอบด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF, ธนาคารกลางยุโรป – ECB และคณะกรรมาธิการยุโรป - EC) เป็นต้น และคำศัพท์คำหนึ่งที่มีการพูดถึงกันบ่อยมากขึ้น ในช่วงไม่นานมานี้ คือคำว่า Fiscal Cliff คำว่า Fiscal Cliff หรือแปลเป็นไทยตรงตัวว่า “หน้าผาทางการคลัง” เป็นคำที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เบน เบอร์นันเก้ ใช้เรียกสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีเหตุการณ์สำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับฐานะ ทางการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญ โดยเหตุการณ์ที่สำคัญ 2 เหตุการณ์ได้แก่ การสิ้นสุดของมาตรการลดหย่อนภาษีหลายๆมาตรการ และการเริ่มต้นของมาตรการการปรับลดงบประมาณของ ภาครัฐฯ ในส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษีนั้น ในสิ้นปีนี้ จะมีมาตรการลดหย่อนภาษีหลายมาตรการสิ้นอายุลง โดยมาตรการภาษีที่สำคัญ ที่สุด คือมาตรการการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งได้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2546 ในสมัยประธานาธิบดีจอร์ช บุช เพื่อปรับลด อัตราภาษีที่บุคคลธรรมดาจะต้องเสียลง ทำให้ประชาชนมีรายได้คงเหลือเพิ่มขึ้น และช่วยให้เกิดการใช้จ่าย และการบริโภค ในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น นอกเหนือจากมาตรการภาษีแล้ว ยังมีมาตรการทางด้านการปรับลดงบประมาณรายจ่าย หรือการขาดดุลของภาครัฐบาลอีกด้วย เนื่องจากในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯประสบกับปัญหาภาระหนี้ชนเพดานหนี้ (วงเงินสูงสุดที่รัฐบาลจะกู้ได้) ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ สาธารณะเพิ่มเติม โดยเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องทำเพื่อการปรับเพิ่มเพดานดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯจะต้องมีการดำเนินการปรับลดรายจ่าย ของภาครัฐลงมาด้วย และหากไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ ก็จะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐแบบอัตโนมัติ (Sequestration) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 มกราคม 2556 นี้ ผลจากมาตรการ 2 มาตรการ ทั้งการสิ้นสุดการปรับลดภาษี ประกอบกับการตัดลดงบประมาณด้านรายจ่ายของภาครัฐฯ แม้ว่าจะทำ ให้รายได้ของรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่ก็จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงอยู่ใน ภาวะเปราะบางเป็นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในส่วนของมาตรการภาษี หากสิ้นสุดลง ก็จะทำให้ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น และ มีเงินคงเหลือเพื่อใช้จ่ายน้อยลง ในขณะมาตรการด้านงบประมาณที่จะต้องปรับลดลงมา ก็จะทำให้รัฐบาลนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ทั้งสองอย่างนี้เลย ก็มีสิทธิที่เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก หรือ หดตัวลงรุนแรง หรือเปรียบเสมือนกับการตกหน้าผานั่นเอง ทั้งนี้ ได้คาดการณ์กันว่า หากเกิด Fiscal Cliff ขึ้นมาเต็มจำนวนทั้ง 6 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของสหรัฐฯในปีหน้า หดตัวลงถึง 1.00% และจะทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 10% จากระดับปัจจุบันที่ 8.30% แต่หากปัญหา Fiscal Cliff ไม่ได้เกิดขึ้นเต็มจำนวนอย่างที่คาดไว้ ความรุนแรงก็จะลดน้อยลงมาตามลำดับ แต่ก็จะมีผลกระทบ ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น